วันอังคารที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2557

โลก


ตัวเอง




คนเก่ง

“เป็นคนเก่งนะดี แต่อย่ามีดีแค่เก่ง”

...... “เก่ง ดี มีสุข”ถือว่าเป็นปรัชญาทางการศึกษาที่ดีมาก เห็นด้วยหรือไม่ก็ตามการศึกษาสมัยนี้ จะเน้นเพียงแค่ตัวแรกคือความเก่งเป็นสิ่งสำคัญสุด เพราะหลายคนเชื่อว่าคนเก่งคือคนที่สามารถเอาตัวรอด ประสบความสำเร็จ สามารถเปลี่ยนแปลงโลกใบนี้ได้ บรรดาพ่อแม่จึงให้ลูก ๆ ตั้งหน้าตั้งตาเรียนและก็เรียนทั้งเรียนภาคปกติทั้งเรียนภาคพิเศษ ทุ่มทั้งเวลาทั้งทุนทรัพย์เพื่อหวังเพียงอย่างเดียวว่าลูกจะต้องเก่ง
......สิ่งที่เห็นจากปรากฏการณ์นี้ ทางด้านสังคม คือ เกิดการเหลื่อมล้ำทางการศึกษาของคนในสังคม คนจนหมดสิทธิ์ ผู้ที่มีสิทธิ์คือคนที่มีเงินพอสมควร นั้นหมายความว่าโอกาสในหลาย ๆ เรื่องก็ถูกจำกัดไปด้วยเช่นเดียวกัน ทางด้านครอบครัว เวลาการทำกิจกรรมร่วมกันของครัวครัวน้อยลง เด็กเคร่งเครียดกับการเรียนมากจนเกินไป ปัญหาทางความรู้สึกระหว่างพ่อแม่ลูกเกิดขึ้นได้ง่าย ทันทีที่ผลสอบออกมาไม่ค่อยจะดีนัก
......คนเก่งหรือคนมีการศึกษา ในสังคมเรามีเยอะนะ ทำไมดูเหมือนว่าสังคมเรามีปัญหาเกิดขึ้นมากมาย ยังมีการเอารัดเอาเปรียบ กดขี่ข่มเหงรังแก ยื้อแย่งแข่งขัน แบบว่ามือใครยาวสาวได้สาวเอา มีการทุจริตคอรัปชั่น เกิดการทะเลาะเบาะแว้ง แบ่งเป็นฝักฝ่าย เป็นพักพวก ยิ่งไปกว่านั้น บางคนเชิดชูบูชาความรู้ใหม่ ๆ จนเกินไปหันมา ดูถูกเหยียบหยามภูมิปัญญาของบรรพบุรุษ นี่หรือที่เขาเรียกกันว่าผู้เจริญแล้ว ความสุขความร่มเย็น ความเจริญรุ่งเรืองจะเกิดขึ้นแก่ประเทศนี้เมืองนี้ได้อย่างไร
......คนเก่งอย่าเพิ่งทะนงตัวมากนัก เพราะคนที่จะมีความสุขและประสบความสำเร็จได้นั้นเพียงแค่ความเก่งอย่างเดียวคงไม่เพียงพอ คุณอาจจะรอบรู้ รอบด้าน รอบจัด แต่ขาดความรอบคอบชีวิตก็พังได้ง่ายเช่นเดียวกัน เก่งแต่คนเดียว เชื่อมั่นตัวเองจนเกินเหตุ จนมองไม่เห็นหัวคนอื่น ที่เป็นผู้รู้ผู้มีประสบการณ์มากกว่าอาจจะล้มลงไม่ไปท่า เพราะมีคำพูดชวนคิดที่ว่า “ร้อยรู้ บางครั้งก็สู้ประการณ์ไม่ได้”
......เก่งอย่างเดียวแต่ไม่มีดีอะไรเลย ก็จะเป็นได้แค่คนเก่งที่สังคมโลกไม่ต้องการ ดังนั้น คุณธรรมความดี ต้องทำให้เจริญควบคู่ไปกับความรู้ความสามารถด้วย เพราะจะเป็นตัวช่วยควบคุมดูแลนำพาไปสู่สิ่งที่ดีงาม งามทั้งใจทางความคิด งามทั้งวาจาทางคำพูด งามทั้งกายทางการกระทำ เมื่อความดีงามเกิดขึ้นทั้งสามทาง ความสำเร็จความเจริญรุ่งเรืองของชีวิต ของสังคม ของประเทศชาติ คงจะไม่เป็นเพียงอุดมคติหรือความฝันอีกต่อไป
......เมื่อความเก่งเกิดมี ความดีปรากฏ ความสุขก็อยู่ในกำมือของทุก ๆ คน เพราะตัวสติและปัญญา ที่อาศัยความเก่งบวกกับความดีคอยอบรมบ่มเพาะทำให้งอกงาม เจริญขึ้นจนกล้าแกร่ง จะกลายเป็นแรงผลักดันชีวิตทางบวกอย่างแท้จริง เมื่อภาวะทางกายก็สมบูรณ์เรียบร้อยดีงาม ภาวะทางสังคมก็เป็นที่ยอมรับ ภาวะทางอารมณ์ ความรู้สึกหนักแน่น สามารถควบคุมได้ ภาวะทางสติปัญญา เจิดจ้าสว่างไสว แสดงว่าคุณเป็นคนเก่ง ที่มีพร้อมด้วยคุณงามความดี เป็นคนมีความรู้ ที่มาคู่กับการใช้สติปัญญา ความสุขความสำเร็จที่ใฝ่หา อยู่ตรงหน้าให้เลือกสรร......สาธุ

ที่สุดในชีวิตเรา

14 สิ่งที่ดีที่สุดในชีวิตเรา



1.  ศัตรูที่น่าสะพรึงกลัวที่สุดในชีวิตเรา คือ ตัวเราเอง
2.  ความล้มเหลวที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในชีวิตเรา คือ ความอวดดี
3.  การกระทำที่โง่เขลาที่สุดในชีวิตเรา คือ การหลอกลวง
4.  สิ่งที่แสนสาหัสที่สุดในชีวิตเรา คือ ความอิจฉาริษยา
5.  ความผิดพลาดมหันต์ที่สุดในชีวิตเรา คือ การยอมแพ้ตนเอง
6.  สิ่งที่เป็นอกุศลที่สุดในชีวิตของเรา คือ การหลอกตัวเอง
7.  สิ่งที่น่าสังเวชที่สุดในชีวิตเรา ก็คือ การถดถอยของตัวเอง
8.  สิ่งที่น่าสรรเสริญที่สุดในชีวิตเรา ก็คือ ความอุตสาหะวิริยะ
9.  ความล้มละลายที่สุดในชีวิตเรา ก็คือ ความสิ้นหวัง
10. ทรัพย์สมบัติที่มีค่าที่สุดในชีวิตเรา คือ สุขภาพที่สมบูรณ์
11. หนี้ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในชีวิตเรา คือ หนี้บุญคุณ
12. ของขวัญที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในชีวิตเรา คือ การให้อภัยและความเมตตา
13. ข้อบกพร่องที่ใหญ่หลวงที่สุดในชีวิตเรา คือการมองโลกในแง่ร้ายและไร้เหตุผล
14. สิ่งที่ทำให้อิ่มอกอิ่มใจมากที่สุด คือ การให้ทาน

วันพุธที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2557

ลิงหวงถั่ว

พระพุทธองค์ตรัสว่าจิตคนเรานั้นเหมือนกับลิง เราจึงเรียนรู้พฤติกรรมมากมายได้จากลิง
ลิงนั้นเกลียดกะปิ ถ้ากะปิถูกมือมันเมื่อไหร่ มันจะถูนิ้วกับพื้นจนเลือดมันเต็มมือ จนกว่ากลิ่นกะปิจะหาย  ในที่สุดกลายเป็นว่า กะปิ ถึงจะร้ายก็ไม่ร้ายเท่า  ความเกลียดกะปิ
ที่มือลิงเป็นแผลเหวอะหวะ ไม่ใช้เพราะกะปิ แต่เป็นเพราะความจงเกลียดจงชังกะปิต่างหาก
                สิ่งที่เราเกลียดนั้นบ่อยครั้งไม่หน้ากลัวเท่ากับความเกลียดชังในจิตใจเรา ความเกลียดชังหรือพูดให้ถูกก็คือ ความรู้สึกอยากผลักไส ซึ่งรวมทั้งความโกรธและความกลัว จึงเป็นเจ้าตัวร้ายที่เราต้องระวังให้มากๆ แต่นั้นเป็นเพียงครึ่งหนึ่งของความจริงเท่านั้น นอกจากความ


อยากผลักไสแล้ว
ความยึดติดเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่เราต้องระวังไม่แพ้กัน  กลับมาที่ลิงจอมซนกันอีกที่ ในอินเดียลิงเป็นไม้เบื่อไม้เมากับชาวบ้านเพราะชอบขโมยผลไม้ในสวน ชาวบ้านจึงคิดวิธีจับลิงโดยใช้กล่องไม้ซึ่งมีฝาด้านหนึ่งเจาะรูเล็กๆพอให้ลิงสอดมือเข้าไปได้  ในกล่องมีถั่วซึ่งเป็นของโปรดของลิงวางไว้เป็นเหยื่อล่อ  วันดีคืนดีลิงมาที่สวนเห็นถั่วอยู่ในกล่องก็เอามือล้วงเข้าไปหยิบถั่ว แต่พอถอนมืออออกมาก็ติดฝากล่อง เพราะกำมือของลิงนั้นใหญ่กว่าฝากล่องที่เจาะไว้ลิงพยายามดึงมือเท่าไหร่ก็ดึงไม่ออก พอชาวบ้านมาก็ปีนหนีขึ้นต้นไม้ไม่ได้เพราะมีมือเปล่าอยู่ข้างเดียว สุดท้ายก็ถูกคนจับได้  ลิงหาได้เฉลียวใจไม่ว่าเพียงแค่มันคลายมือออกเท่านั้น มันก็เอาตัวรอดได้ แต่เพราะยึดถั่วไว้แน่นไม่ยอมปล่อยจึงต้องเอาชีวิตเข้าแลก
                   มีหลายอย่างที่เราอยากได้ใฝ่ฝันจึงถึงยึดไว้อย่างเหนียวแน่นเวลาประสบปัญหาเพียงแต่คลายสิ่งที่ยึดติดนั้นเสียบ้างปัญหานั้นก็คลี่คลาย  แต่เป็นเพราะเราไม่ยอมปล่อยจึงเกิดผลเสียตามมามากมายไม่คุ้มกับสิ่งที่ติดยึด จะชอบหรือพึงใจอะไรก็ตามอย่าถึงกับยึดติดจนเหนียวแน่นจนเกินไป เพราะโอกาสที่หน้ามืดตามัวนั้นมีสูง จนหาทางออกไม่เจอ   ปัญหาทั้งหลายในชีวิตนั้นถ้าเรารู้จักปล่อยวางบางสิ่งเสียบ้างมันก็จะบรรเทาไปได้เยอะ  เพราะถ้าปล่อยก็ว่าง ถ้าวางก็เบา ถ้าเอาก็หนัก
                    บ่อยครั้งการปล่อยวางไม่เพียงแต่เป็นจุดเริ่มต้นของการแก้ปัญหาเท่านั้น หากเป็นทางออกของปัญหาเลยทีเดียว  บางทีการผลักไสอะไรสักอย่างก็เป็นการยึดติดแบบหนึ่งนั้นเองทั้งๆที่ลิงพยามยามถูกำจัดกลิ่นกะปิไปจากมือก็อดไม่ได้ที่จะดึงมือมาดมหากลิ่นกะปิซ้ำแล้วซ้ำเล่ารู้ทั้งรู้ว่ากลิ่นกะปินั้นเหม็นแต่ก็ดมมือไม่ยอมเลิกง่ายๆ  ในทำนองเดียวกันไม่ว่าเราจะโกรธอะไรหรือเกลียดใครก็มักดึงสิ่งนั้นหรือคนนั้นเข้ามาในจิตใจให้ครุ่นคิดอยู่เสมอไม่ยอมปล่อยไม่ยอมวางเสียทีทั้งๆที่ยิ่งคิดก็ยิ่งทุกข์ ปล่อยวางเสียเถิดแล้วใจเราจะเบาขึ้นเป็นกอง

                ความทุกข์ทั้งหลายไม่ว่าจะเป็นการพลัดพรากจากสิ่งที่รักหรือประสบกับสิ่งที่ไม่พึงปรารถนาที่มันบีบคั้นกดดันจิตใจเราไม่หยุดหย่อนเสียทีก็เพราะเราไปยึดไปแบกมันไว้ทั้งวันทั้งคืน  ในหลายกรณีความทุกข์ก็ไม่ได้มาจากไหน หากมาจากการยึดติดไม่ยอมปล่อยดังเช่นเจ้าลิงหวงถั่วนั้นเอง

สี่คนหาม สามคนแห่

        “สี่คนหาม สามคนแห่ หนึ่งคนนั่งแคร่ สองคนพาไป

  "สี่คนหาม"คนโบราณไขขานว่า                     คือชีวามนุษย์นี้ไม่มีขาด
                    เป็นรูปร่างตัวตนคนพิลาส                             รวมสี่ธาตุมารวมกันแบ่งสรรเป็น
                  ธาตุที่หนึ่งคือ"ธาตุดิน"ใช่สินทรัพย์              ผมดำขลับเนื้อหนังยังมองเห็น
กระดูก เล็บ สุดเจ็บเล็บก็เป็น                                  ทุกสิ่งเช่นเป็นธาตุดินชีวินเรา
          ธาตุที่สองคือ"ธาตุน้ำ"ช้ำเลือดหนอง              ไม่หมายปองคือน้ำลายคายออกเข้า
อีกน้ำมันในข้อต่อพอบรรเทา                                  เว้นน้ำเหล้าไม่เกี่ยวข้องเพียงลองใจ
          ธาตุที่สามคือ"ธาตุลม"ไม่ตรมจิต                   ขาดเพียงนิดชีวิตสิ้นดิ้นไฉน
ลมที่ว่าแสนสุขสมลมหายใจ                                  หากขาดไปชีวิตสิ้นดิ้นแดยัน
          ธาตุที่สี่คือ"ธาตุไฟ"อยู่ในร่าง                       ไม่เหินห่างแสนใกล้ชิดติดตัวท่าน
คอยบอกร้อนบอกเย็นเป็นชีวัน                                ร้อนนอกนั้นไม่ข้องเกี่ยวแท้เทียวจริง
          สี่ธาตุนี้จึงเปรียบมี"สี่คนหาม"                        เป็นรูปธรรมตามแน่ที่แท้ยิ่ง
จะอ้วนผอมสูงใหญ่ในความจริง                               สี่ธาตุสิ่งรวมกันพลันเป็นคน

สามคนแห่"ความหมายแท้แก้ให้รู้                เปรียบคนอยู่ในไตรลักษณ์ภักดีผล
ธรรมชาติสรรพสิ่งไปในสกล                                   ล้วนดิ้นรนในสามสิ่งอย่างจริงจัง
          หนึ่ง"อนิจจัง"นั้นไม่เที่ยงเลี่ยงไม่ได้               ชีวิตไหนก็ไม่แน่แปรหน้าหลัง
จากเด็กเล็กโตเป็นหนุ่มรุ่มพลัง                               แต่ภายหลังกลายเป็นแก่เปลี่ยนแปรไป
          คนเคยรวยกลับมาจนยลให้เห็น                     จนกลายเป็นกลับรวยถูกหวยได้
ความแน่นอนไม่เที่ยงแท้เปลี่ยนแปรไป                      ไม่ว่าใครต้องผูกติด"อนิจจัง"
          สอง"ทุกขัง"แปรตรงตัวมัวเมาทุกข์                 จะกี่ยุคกี่ชาติเกิดประเสริฐสังค์ (สังค์=การยึดเหนี่ยว)
จะเกิดแก่เจ็บตายไข้ประดัง                                    ย่อมทุกข์ทั้งสิ้นหมดรันทดใจ
          สาม"อนัตตา"ชีวิตตนที่ทนอยู่                      ก็ไม่รู้จะเปลี่ยนแปรแน่นอนได้
เหมือนกับคนที่แดดิ้นสิ้นหายใจ                              ยังถูกไฟผลาญเผาเป็นเถ้าธุลี
          ชีวิตตนใช่ตัวตนคนแน่แท้                            ย่อมเปลี่ยนแปรไม่แน่นอนตอนสุขศรี
ดังอดีตคนกำเนิดเกิดร้อยปี                                    แต่บัดนี้กลับไร้ตนเป็นคนไป
          "อนิจจังทุกขังอนัตตา"                            ทั้งสามมาเป็นสัจจธรรม"สามคนแห่"
ชีวิตเราย่อมเปลี่ยนไปไม่แน่แท้                               ทุกข์เหตุแห่แปรไปไร้ตัวตน

          “หนึ่งคนนั่งแคร่"นั้นที่แท้แปรความหมาย        ดั่งจิตใจจิตวิญญานประมาณผล
เมื่อคนเกิดวิญญานเข้าสถิตย์ชีวิตคน                         เป็นจิตตนจิตวิญญานชีวันเรา
          จิตใจนั้นคอยบงการบันดาลชีวิต                     สิงสถิตย์ในร่างกายใจคอยเฝ้า
โบราณท่านจึงเปรียบไว้จิตใจเรา                                       เทียบไว้เอา"คนนั่งแคร่"แค่ใจคน

          "สองคนพาไป"มีความหมายเปรียบไว้ว่า         เราเกิดมามีบาปบุญหนุนกุศล
หากทำบาปย่อมลำบากยากทุกข์ทน                         หากบุญล้นย่อมเกิดดีศรีสุขกัน
          ชีวิตที่คงอยู่สู่ชาตินี้                                   กับชีวิตที่เกิดมาชาติหน้านั้น
เกิดมาแล้วจะทุกข์หรือสุขสันต์                                บาปบุญนั้นจะกำหนดตามกฏกรรม

          เพราะบาปบุญหนุนนำทำทุกข์สุข                   จึงต้องถูกนำมาเทียบและเปรียบย้ำ
"สองคนพาไป"คือบาปบุญที่หนุนนำ                         สู่ภพกรรมที่กระทำตามชั่วดี

          ปริศนาธรรมทั้งสี่ตามที่กล่าว                        แปลเรื่องราวโบราณความตามวิถี
เป็นคำสอนให้คนเราเฝ้าทำดี                                  เพื่อได้มีบุญเป็นทุนหนุนตนเอง.......


                                                                                   นพกรณ์ กุลตวนิชผู้ประพันธ์